วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553

กังฟู


เมื่อเราได้ยินเกี่ยวกับหมัด ๆ มวย ๆ เราจะนึกถึงหนังหรือนิยายกำลังภายใน หรือ หนังบู๊ เรื่องต่าง ๆ ถ้าพูดถึงในแถบเอเซียด้วยแล้ว เป็นแหล่งที่มีศิลปะการป้องกันตัวมากที่สุด ยิ่งโดยเฉพาะในประเทศจีนยิ่งแล้ว มีมากมายหลากหลายประเภท เป็นการเข้าใจผิดอย่างมากเลยทีเดียวที่ว่า ถ้าใครสนใจเรื่องนี้จะเป็นพวกที่ชอบใช้กำลังตัดสินปัญหา ทำตัวเท่ไว้โชว์คนอื่น หรือ ชอบรังแกคนอ่อนแอกว่า แต่ที่จริงแล้วผู้ที่จะได้รับการฝึกฝนนั้นจะต้องผ่านการเห็นชอบจากอาจารย์ ต้องดูหน่วยก้าน ดูลักษณะนิสัยเป็นอย่างไรเสียก่อน จึงจะรับเป็นลูกศิษย์ได้ แต่ถึงรับแล้วก็ต้องอบรมคุณธรรมเสริมไปอีก ไม่ให้เที่ยวไปมีเรื่องต่อยตีกับใครพร่ำเพรื่อเด็ดขาด เป็นการแสดงถึงความอ่อนน้อม มีสัมมาคารวะและความอดทนได้เป็นอย่างดี

คำว่า "กังฟู" นั้นจริง ๆ แล้ว มาจากคำว่า "กงฟู" ซึ่งแปลว่า การฝึกฝนอย่างถูกต้อง ต่อเนื่อง และยาวนาน ซึ่งที่เรียกกันว่า "กังฟู" นั้น มาจากภาษาอังกฤษ คือ Kungfu ซึ่งถ้าอ่านตามพินอิน จะต้องอ่านว่า กงฟู แต่ฝรั่ง หรือ คนที่ไม่รู้พินอิน ภาษาจีน จะต้องอ่านแบบนี้แน่นอน

คำว่า บู๊ นั้นเป็นคำในภาษาจีนแต้จิ๋ว ในภาษาจีนกลางออกเสียงว่า อู่ ซึ่งแปลว่า ต่อสู้ หรือ ยุทธ์ เป็นการนำคำสองคำมาประกอบกันในภาษาจีน คือคำว่า หยุด และคำว่า หอก หรือความหมายว่า อาวุธ มาประกอบกัน ความหมายคือ หยุดการใช้อาวุธ ยุติความรุนแรง นั่นเอง


เช่นเดียวกันกับคำว่า "วูซู" (Wushu) ซึ่งจีนกลางอ่านว่า "อู่ซือ" หรือ "บู๊ซุก" ในจีนแต้จิ๋ว แปลว่า "วิทยายุทธ์" นั่นเอง



กังฟูจีนนั้นมีคำกล่าวกันว่า มวยทุกชนิดล้วนกำเนิดจากเส้าหลิน ซึ่งเส้าหลินนั้นมีชื่อเสียงมาจากท่านโพธิธรรม หรือ ปรมาจารย์ตั๊กม้อ(ต๋าโม๋) ได้มาเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายเซนในประเทศจีน เห็นว่าพระในวัดนั้น นั่งสมาธินาน ๆ เกิดอาการเลือดลมติดขัด เมื่อยขบไปทั้งตัว ไม่ก่อเกิดสมาธิแต่อย่างใด ท่านจึงคิดค้นท่ากายบริหารที่ดัดแปลงมาจากอาสนะในศาสตร์โยคะของอินเดีย มาผสมผสานเข้ากับมวยในท้องถิ่นนั้นที่มีอยู่แล้ว เกิดเป็นมวย การฝึกลมปราณต่าง ๆ ขึ้น

นอกจากมวยเส้าหลินแล้ว อีกสำนักหนึ่งที่โด่งดังไม่แพ้กันนั่นก็คือ สำนักบู๊ตึ๊ง(อู๋ตั่ง) ก่อตั้งโดยท่านจางซันฟง มีศาสนาเต๋าเป็นแกนหลัก มวยที่ถือเป็นตัวแทนของสำนักก็คือ มวยไท้เก็ก(ไท่จี๋) เป็นมวยที่ร่ายรำด้วยความอ่อนช้อยนุ่มนวล แต่ในความนุ่มนวลนั้น แฝงไปด้วยความแข็งแกร่ง อาศัยความสงบนิ่งสยบความเคลื่อนไหว ช้าสยบเร็ว น้อยสยบมาก อ่อนหยุ่นสยบแข็งกร้าว เป็นหลักการที่ตรงกันข้ามกับหลักมวยทั่วไปหรือที่คนทั่วไปคิดอย่างสิ้นเชิง บุคลิกภายนอกของผู้ฝึกไม่ต่างอะไรจากบัณฑิต หรือ นักปราชญ์ปัญญาชน ที่สุภาพเรียบร้อย

มวยจีน หรือ กังฟูนั้น แท้จริงแล้วมีเป้าหมายเน้นฝึกเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม ต่างจากมวยประเทศอื่นที่มุ่งหมายโดยตรงเพื่อต่อสู้ หรือ ป้องกันตัวเป็นหลัก แต่ถึงอย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นมวยประเภทไหนก็ล้วนต้องประกอบด้วยคุณธรรมทั้งสิ้น อยู่ที่ผู้ฝึกจะเข้าถึงแล้วนำไปใช้ ให้เกิดคุณค่าและความหมายกับตัวเองและกับมวยได้เช่นไร

....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น