วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

ประวัติของท่านอิคคิว

เนื่องจากคอมเม้นท์ที่แล้วได้ลงเพลงจบของอิคคิวซัง ก็ขอลงประวัติของท่านมาให้ได้อ่านกัน ขอบคุณเว็บเด็กดีครับ














อิ๊คคิวซัง แค่การ์ตูนหรือตำนานที่มีอยู่จริง ?


อิ๊กคิวซัง' Ikkyu-san มีตัวตนจริงๆครับ
ท่านมีชื่อในวัยเด็กว่า 'เซนงิกามารุ' เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1349 (พ.ศ.1892) เมืองซะกะโน ใกล้เมืองเกียวโต
'อิ๊คคิวซัง' มีพ่อเป็นจักรพรรดิฝ่ายเหนือ ส่วนมารดา ที่การ์ตูนเรียก 'ท่านแม่' ของเณรน้อย เป็นเจ้าหญิงในราชวงศ์ฝ่ายใต้ และถูกขับจากวังตั้งแต่อิ๊กคิวซังยังไม่คลอด
สาเหตุที่ 'ท่านแม่' ที่เป็นเจ้าหญิงถูกขับออกจากวัง เพราะถูกฝ่ายตรงข้ามใส่ร้ายป้ายสี

วัดอังโกะกุจิ

'ท่านแม่'ทรงให้'อิ๊กคิวซัง'บวชที่วัดอังโกะกุจิ เมื่ออายุ 6 ขวบ เพื่อหนีภัยการเมือง
ซึ่งเณรน้อยได้ฉายาตอนนั้นว่า 'ชูเคน'

เมื่อบวชเป็นเณร อิ๊คคิววังตั้งอกตั้งใจศึกษาพระธรรม และฉายแวว 'คนเจ้าปัญญา' มากขึ้นตามอายุ
เมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ อิ๊กคิวซังแต่งกลอนวิพากษ์วิจารณ์ความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของพระภิกษุนิกายหนึ่ง ที่มีพฤติกรรมกอบโกยทรัพย์สิน หลงไหลยศฐาบรรดาศักดิ์บนความทุกข์ยากของชาวบ้าน
กระทั่งอายุได้ 13 ปี
'อิ๊คคิวซัง' จึงมีโอกาสเข้าพบแม่ทัพใหญ่ในยุคนั้น คือ 'อาซิคะงะโยชิมิสึ'
เป็นแม่ทัพคนเดียวกับที่ปรากฎในการ์ตูนคือ'ท่านโชกุน'นั่นเอง
เมื่ออายุได้ 17 ปี 'อิ๊กคิวซัง' ออกจากวัดอังโกะกุจิแล้วไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ 'หลวงพ่อเคนโอ' ที่วัดไซกอนจิ พร้อมได้ฉายา
'โชจุน'
ที่วัดแห่งนี้ หลวงพ่อเคนโอ เน้นการปฏิบัติธรรม โดยพระและเณรในวัด ต้องทำงานหนัก และอยู่กับสิ่งสกปรกเสียส่วนใหญ่
เมื่อหลวงพ่อเคนโอมรณภาพ
'อิ๊กคิวซัง' จึงเดินทางไปวัดอิชิยามา และปฏิบัติธรรมด้วยการอดอาหาร 7 วัน 7 คืน พร้อมสวดมนต์อุทิศส่วนบุญส่วนกศลให้อาจารย์ต่อหน้าพระโพธิสัตว์
มีเรื่องเล่ากันว่า การมรณภาพของหลวงพ่อเคนโอ ทำให้อิ๊คคิวซังเสียใจมาก ถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย
'อิ๊คคิวซัง' ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการเดินลงไปในแม่น้ำเซตะ พร้อมตั้งจิตอธิษฐานจิตว่า
'ถ้าพระโพธิสัตว์ต้องการให้ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ ก็ขอให้ข้าพเจ้าฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ แต่หากชีวิตข้าพเจ้าไร้ซึ่งคุณค่าเสียแล้ว ข้าพเจ้าขออุทิศสังขารให้เป็นอาหารของปลาและสัตว์น้ำ'
ระหว่างที่ดำดิ่งลงในท้องน้ำ 'อิ๊กคิวซัง' พลันนึกถึงใบหน้า 'ท่านแม่' และรำลึกถึงคำสอนของท่านขึ้นมา
คำสอนนั้นคือ 'เป็นลูกผู้ชายต้องไม่ย่อท้อ'

'อิ๊กคิวซัง' จึงตะเกียกตะกายกลับขึ้นฝั่ง
เมื่อท่านอายุได้ 23 ปี
'อิ๊คคิวซัง' จึงไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อคะโซ แห่งวัดโคอัน พร้อมได้ฉายาใหม่เป็น 'พระโซจุน'
หลวงพ่อคะโซ เป็นพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ แต่พอใจที่จะใช้ชีวิตอย่างสมถะและพอใจในวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและหนักหน่วง
ดังนั้น เมื่อมาอยู่ที่วัดแห่งนี้ อิ๊กคิวซังจึงต้องทำงานทั้งวัน และปฏิบัติธรรมอย่างหนักหน่วง
นอกจากใช้แรงงานในวัดแล้ว อิ๊กคิวซังยังต้องสานรองเท้า เย็บเสื้อผ้าตุ๊กตาผู้หญิง รวมทั้งออกไปขายแรงงานในหมู่บ้านละแวกนั้น
ที่สำคัญคือ อิ๊คคัวซังโดนพระรุ่นพี่ที่ไม่ชอบหน้ากลั่นแกล้ง ทำร้าย เตะต่อยอยู่เสมอ แต่ท่านก็อดทน
ในที่สุด ความเพียรพยายามที่จะค้นหาสัจธรรมของท่านอิ๊คคิววังก็สำเร็จ
โดยสามารถแก้ปริศนาธรรมที่หลวงพ่อคะโซตั้งไว้ได้ขณะมีวัยเพียง 25 ปีเท่านั้น
และ
'พระโชจุน' ก็ได้รับฉายาใหม่ว่า 'อิ๊กคิว โซจุน' ซึ่งหมายความว่า 'รู้พ้นจากโลกสมมติตามบัญญัติของลัทธิเซน'

รูปปั้นอิ๊คคิวที่วัด Ikkyuji Temple

ตำนานญี่ปุ่นระบุว่า 'อิ๊กคิวซัง' น่าจะเป็นพระภิกษุที่บรรลุธรรมเมื่ออายุยังน้อยที่สุดรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา
เพราะท่านสามารถบรรลุธรรมในขณะที่นั่งสมาธิบนเรือริมฝั่งทะเลสาบ
'เหตุแห่งความทุกข์และความเศร้าหมองที่เกิดขึ้นในชีวิต ล้วนเกิดจากจิตที่เต็มไปด้วยอัตตา'
นี่คือคือแก่นธรรมที่ท่านอิคคิวค้นพบ !!!
ในหนังสือ'ปล่อยวางอย่างเซน' ของคุณ ละเอียด ศิลาน้อย ได้กล่าวถึงการสอนธรรมของท่านอิ๊คคิวซังไว้
โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ท่านนินากาวะจะจากไป (ตาย) ซึ่ง 'อิ๊กคิวซัง' ได้แวะมาเยี่ยมแล้วถาม 'จะให้ผมนำทางให้ไหม?'
นินากาวะตอบ 'ฉันมาที่นี่แต่เพียงลำพังคนเดียว และฉันก็จะไปคนเดียว คุณจะช่วยอะไรฉันได้?'
อิ๊กคิวซังจึงตอบกลับไปว่า 'ถ้าคุณคิดว่าคุณมาและไปจริงๆ แล้วนั่นเป็นโมหะ (ความหลงผิด) ของท่านละ ขอให้ผมได้แสดงทางซึ่งไม่มีการมาและไม่มีการไปให้ท่านดูสักหน่อยเถิด'
ด้วยคำพูดเพียงเท่านี้ 'อิ๊กคิวซัง' ก็ได้ช่วยเปิดเผยเส้นทาง (แห่งธรรม) ให้แก่นินากาวะ ทำให้นินากาวะยิ้มแล้วจากไปอย่างสงบ
ความเรื่อง 'อิ๊กคิวซัง' บรรลุแก่นธรรมทราบถึง 'หลวงพ่อคะโซ' ทำให้ท่านประสงค์จะมอบใบสำเร็จเปรียญธรรม และตำแหน่งเจ้าอาวาสให้อิ๊กคิวซังสืบทอด
แต่'อิ๊กคิวซัง'ปฏิเสธ !!!
ท่านให้เหตุผลว่า 'ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งสมมติ'
ท่านจึงออกธุดงค์
กระทั่งอายุ 34 ปี 'อิ๊กคิวซัง' จึงมีโอกาสเข้าเฝ้าท่านพ่อ ซึ่งเป็นองค์จักรพรรดิ
และเป็นช่วงที่ท่านถูกกล่าวถึง และเป็นที่ขยาดหวาดกลัวและเกลียดชังจากภิกษุด้วยกัน
เพราะท่านไม่พอใจกับการ 'ยึดติด' ของบรรดาพระทุกรูป
ครั้งหนึ่ง 'อิ๊กคิวซัง' ไปร่วมงานครอบรอบวันมณภาพของพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งด้วยสภาพมอมแมมสกปรก จีวรหลุดลุ่ย และด่าทอพระที่มือถือสากปากถือศีล
เนื่องเพราะมีพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากที่ทำตัวเคร่งพระวินัย ถึงขนาดบอกว่าผู้หญิงเป็นมารศาสนา
แต่เบื้องหลังกลับลักลอบให้แม่เล้านำโสเภณีมาบำเรอถึงในกุฏิ
ท่านด่าทอพระผู้มีอิทธิพลมีหลายรูป ที่หลอกชาวบ้านว่าจะสามารถบรรลุธรรมได้หากบริจาคปัจจัยให้พระมากๆ รวมทั้งทำทุกอย่างที่ถือว่าเป็นอาบัติ ทั้งดื่มสุรา เล่นการพนัน ฉันเนื้อสัตว์ ไม่โกนผมและไว้หนวดเครา รวมถึงเดินเข้าออกซ่องโสเภณีอย่างเปิดเผย

วัดคิมิโอชิ

โดยส่วนตัว 'อิ๊กคิวซัง' ก็คบหาและปฏิบัติกับโสเภณีอย่างเปิดเผยสุภาพและให้เกียรติ
ท่านเคยแบ่งส้มจากบาตรให้โสเภณีอดอยากทาน
เคยปีนเขาเสี่ยงตายไปหาสมุนไพรมารักษาโสเภณีที่ป่วยหนักแม้ว่าจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา
กระทั่งเมื่อท่านอายุได้ 75 พรรษา ระหว่างที่ธุดงค์เร่ร่อนหลบภัยสงครามในประเทศไปอยู่ที่เมืองซึมิโยชิ
ท่านได้พบกับ 'โมริ' ศิลปินขอทานตาบอด และท่านได้รับนางเป็นภรรยา
ทั้งคู่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันคืนเดียว 'โมริ' ก็หนีไปเพราะเกิดความอับอายและเกรงว่าตนจะทำให้ท่านอิ๊กคิวซังเสื่อมเสียชื่อเสียง
แต่นางก็กลับมาหาอิ๊กคิวอีกหน เพราะไม่สามารถดำรงชีวิตลำพังได้ในสภาวะสงคราม

เมื่ออายุได้ 85 ปี จักรพรรดิทรงแต่งตั้งให้ 'อิ๊กคิวซัง' เป็นเจ้าอาวาสวัดไดโตะกุจิ ซึ่งเป็นวัดหลวงที่สำคัญที่สุดในสมัยนั้น เมื่อไม่สามารถขัดพระราชประสงค์ได้ อิ๊กคิวซังจึงยอมรับตำแหน่ง
แต่ท่านรับตำแหน่งเพียงแค่วันเดียวก็ลาออก และกลับไปอยู่วัดเมียวโชจิ ที่ท่านสร้าง
'อิ๊คคิวซัง' มรณภาพหลังจากกลับมาอยู่วัดเมียวโชจิได้เพียง 2 ปี
โดยท่านป่วยเป็นมาลาเรีย และละสังขารในท่านั่งสมาธิในอ้อมกอดของโมริ ภรรยาของท่าน
ในเวลา 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1481(พ.ศ.2024)

'อิ๊คคิวซัง' มรณภาพเมื่ออายุ 88 ปี


อ่านต่อ

วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

เพลงจบอิ๊คคิวซัง - คำแปล



HAHAUE-SAMA (ท่านแม่)
IKKYUU-SAN - Ending Song (เพลงจบอิ๊คคิวซัง)


ผู้ร้อง (และพากย์เสียงญี่ปุ่นตัวละครอิ๊คคิว) โดย ฟุจิตะ โทชิโกะ [Fujita Toshiko]
เนื้อร้องโดย ยามาโมโตะ โกฮิสะ [Yamamoto Gohisa]
ทำนองและเรียบเรียงโดย อุโนะ เซอิชิโระ [Uno Sei'ichiro]

* * *

Hahaue-sama ogenki desu ka
Yoube sugi no kozue ni
akaru hikaru hoshi hitotsu
mitsuke mashita

Hoshi wa mitsume masu
hahaue no youni totemo yasashiku
Watashi wa hoshi ni hanashi masu

kujike masen yo
otoko no ko desu
Sabishiku nattara
hanashi ni kimasu ne
itsuka tabun

Sorede wa mata
otayori shimasu
hahaue-sama
ikkyuu


ท่านแม่ครับ สบายดีหรือเปล่า
เมื่อคืนผมเห็นดาวดวงหนึ่งส่องสว่างอยู่บนยอดต้นสน
เมื่อมองดาวดวงนั้น ผมรู้สึกถึงความอ่อนโยนของท่านแม่
ผมคุยกับดาวนั้นว่า ผมเป็นลูกผู้ชายจะไม่ท้อแท้
ถ้าเมื่อใดที่ผมเหงา ผมจะมาคุยด้วยอีก
แค่นี้นะครับ แล้วจะเขียนจดหมายไปหาท่านแม่อีก อิ๊กคิว

* * * * *

Hahaue-sama ogenki desu ka
Kinou otera no koneko ga
tonari no mura ni morawarete
iki mashita

Koneko wa nakimashita
kaasan neko ni shigamitsuite
Watashi wa iimashita

naku no wa oyoshi
sabishiku nai sa
Otoko no kodaro
kaasan ni aeru yo
itsuka kitto

Sorede wa mata
otayori shimasu
hahaue-sama
ikkyuu


ท่านแม่ครับ สบายดีหรือเปล่า
เมื่อวานนี้ที่วัดมีคนจากหมู่บ้านข้าง ๆ เอาลูกแมวมาให้
เจ้าแมวน้อยร้องไห้เพราะว่ายังติดแม่ของมันอยู่
ผมบอกกับมันว่า อย่าร้องไห้ไป เจ้าจะไม่เหงาหรอก
เป็นลูกผู้ชายใช่ไหม แล้ววันหนึ่งเจ้าจะได้เจอแม่เอง
แค่นี้นะครับ แล้วจะเขียนจดหมายไปหาท่านแม่อีก อิ๊กคิว

* * * * *

อ่านต่อ

พระโอวาทของท่านอรหันต์จี้กง


ชีวิตย่อมเป็นไปตามลิขิต (ละชั่วทำดี) วอนขออะไร
วันนี้ไม่รู้เหตุการณ์ในวันพรุ่งนี้ กลุ้มเรื่องอะไร
ไม่เคารพพ่อแม่แต่เคารพพระพุทธองค์ เคารพทำไม
พี่น้องคือผู้ที่เกิดตามกันมา ทะเลาะกันทำไม
ลูกหลานทุกคนล้วนมีบุญตามลิขิต ห่วงใยทำไม
ชีวิตย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จ ร้อนใจทำไม
ชีวิตใช่จะพบเห็นรอยยิ้มกันได้ง่าย ทุกข์ใจทำไม
ผ้าขาดปะแล้วกันหนาวได้ อวดโก้ทำไม
อาหารผ่านลิ้นแล้วกลายเป็นอะไร อร่อยไปใย
ตายแล้วบาทเดียวก็เอาไปไม่ได้ ขี้เหนียวทำไม
ที่ดินคือสิ่งที่สืบทอดแก่คนรุ่นหลัง โกงกันทำไม
โอกาสจะได้กลายเป็นเสีย โลภมากทำไม
สิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เหนือศีรษะเพียง 3 ฟุต ข่มเหงกันทำไม
ลาภยศเหมือนดอกไม้ที่บานอยู่ไม่นาน หยิ่งผยองทำไม
ทุกคนย่อมมีลาภยศตามวาสนาที่ลิขิต อิจฉากันทำไม
ชีวิตลำเค็ญเพราะชาติก่อนไม่บำเพ็ญ แค้นใจทำไม (บำเพ็ญไวไว)
นักเล่นการพนันล้วนตกต่ำ เล่นการพนันทำไม
ครองเรือนด้วยความประหยัดดีกว่าไปขอพึ่งผู้อื่น สุรุ่ยสุร่ายทำไม
จองเวรจองกรรมเมื่อไรจะจบสิ้น อาฆาตทำไม
ชีวิตเหมือนเกมหมากรุก คิดลึกทำไม
ฉลาดมากเกินจึงเสียรู้ รู้มากทำไม
พูดเท็จทอนบุญจนบุญหมด โกหกทำไม
ดีชั่วย่อมรู้กันทั่วไปในที่สุด โต้เถียงกันทำไม
ใครจะป้องกันมิให้มีเรื่องเกิดขึ้นได้ตลอด หัวเราะเยาะกันทำไม
ฮวงซุ้ยที่ดีอยู่ในจิตไม่ใช่อยู่ที่ภูเขา แสวงหาทำไม
ข่มเหงผู้อื่นคือทุกข์ รู้ให้อภัยคือบุญ ถามโหรเรื่องอะไร
ทุกสิ่งจบสิ้นลงด้วยความตาย วุ่นวายทำไม

.....

อ่านต่อ

ประโยชน์จากความว่าง


"ความว่าง" กับ "ความเต็ม"

ถ้ามีกระดาษที่ระบายสีดำจนเต็มหน้า เราจะรู้ได้ทันทีว่า มีสีำดำเต็มทั้งหน้า แต่ถ้าเราระบายสีขาวบนหน้ากระดาษดำล่ะ เราจะเรียกได้ไหมว่ามันเต็มเช่นกัน

ทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามล้วนได้รับประโยชน์จากความว่าง เราใช้ประโยชน์จากความว่างมากยิ่งกว่าความเต็มหรือความมีอะไรเสียอีก เพียงแต่ว่าคนเรามักไปสนใจรายละเอียดภายในความว่างนั้น มากกว่าตัวความว่างที่อำนวยประโยชน์ให้ ความว่างในรูปของวัตถุแสดงตนออกมาเป็นเนื้อที่(space) อย่างเช่น ล้อลมยาง ถ้าไม่มีความว่างภายใน จะใส่ลมหรืออากาศเข้าไปได้หรือ? ภาชนะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแก้ว ถ้วยชาม ถ้าไม่มีความว่างภายใน เราจะใส่อาหารหรือน้ำเข้าไปได้หรือ? อาคารบ้านเรือนไม่มีที่ว่างภายในแล้วเราจะอาศัยอยู่ได้หรือ?
ความว่างในรูปของเสียงเป็นความเงียบสงบ เพื่อให้เสียงต่าง ๆ เปล่งออกมาให้ได้ยิน เป็นจังหวะจะโคน
เช่นกัน
ตัวอักษรในประโยค ถ้าไม่มีช่องไฟ ก็จะอยู่ชิดติดกันอ่านไม่ออกเป็นแน่

ฉะนั้น ไม่ว่า่จะเป็นอะไรก็ล้วนอาศัยประโยชน์จากความว่าง และความเต็มหรือความมีอะไรทั้งสิ้น อย่างเช่น ในภาพวาดศิลปะจีน หรือภาพวาดเซนนั้น จะเห็นว่าเหลือเนื้่อที่ว่างไว้มากมาย เพราะความว่างนั้นทำให้เกิดคุณค่าของภาพนั้น รวมกับภาพในจิตใจผู้วาด และผู้ชมผสมผสานกัน ขึ้นอยู่กับจิตภายในของแต่ละคน
อย่างดนตรีถ้าไม่มีช่วงจังหวะ ไม่มีเสียงที่ไร้เสียง หรือช่วงจังหวะว่าง ๆ แล้ว เพลงก็จะไม่สมบูรณ์ เราคงได้ยินแต่เสียงดนตรีที่ดังตลอดไม่มีจบ จนรำคาญโสตประสาทหูเราเป็นแน่
อย่างหมากล้อมก็อย่างที่อธิบายไปในคอมเม้นท์นั้นแล้ว ดังนั้นไม่ว่าอะไร เราก็ต้องล้วนอาศัยความว่าง ถ้าจักรวาลไร้ความว่างก็จะไม่สามารถมีอะไรอยู่ภายในจักรวาลนั้นได้ เราทั้งหมดจึงไม่สามารถอาศัยอยู่ภายในโลกนี้ จักรวาลนี้ได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าเรื่องราวใด ๆ ก็อาศัยความว่างก่อเกิดมาทั้งสิ้น ฉะนั้นจะหาผู้่ที่เข้าใจ และใช้ประโยชน์จากความว่างได้อย่างแท้จริงนั้นมีน้อยเต็มที

ถ้ายิ่งเป็นเรื่องจิตแล้วยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะจากวัตถุ สสาร ที่จับต้องได้ หรือไม่ได้แต่มีจริงให้รับรู้ จนมาถึงเรื่องจิตด้วยแล้ว ก็เพิ่มความซับซ้อนมากขึ้น ถ้าจิตไม่มีความว่าง มนุษย์เราก็จะเกิดความทุกข์ตลอดเวลา ไม่มีว่างเว้น แม้แต่้อารมณ์ดีใจก็ตาม อย่างในการแพทย์จีน ถ้าดีใจมากเกินไป จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ทำให้ทำงานมากเกินไป จนเกิดไฟโหมมากขึ้น ถ้าเป็นนานต่อเนื่อง ก็จะกลายเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และือื่น ๆ ตามมาอีกเป็นขบวน

จึงเห็นได้ว่าถ้าอยู่ในความสมดุล ก่อให้เกิดพลัง สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้ จึงจำเป็นต้องมีสองสิ่งในธรรมชาติมาเป็นคู่เสมอ ถึงจะทำให้เกิดการทำงานขึ้นมาได้ แต่ทั้งหมดก็ล้วนต้องอาศัยอยู่ในความว่างทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นอากาศ สูญญากาศ หรือ ทางจิต สุญญตา ก็ตาม

ดังนั้นสรรพสิ่งเมื่อมีการทำงาน ก็ต้องมีการพักผ่อน เพื่อน ๆ ที่อ่านคอมเม้นท์นี้แล้ว ดูแลตัวเอง รักษาสุขภาพ รวมถึงความสัมพันธ์กับผู้คน จะได้ใช้ชีวิตอย่างไร้กังวล และราบรื่นยาวนานนะครับ


อ่านต่อ

วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

แพทย์แผนจีน


เมื่อพูดถึงแพทย์แผนโบราณ การแพทย์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และรู้จักกันแพร่หลาย หนึ่งในนั้นก็คือ แพทย์แผนจีน ไม่ว่าจะเป็นการใช้อาหารและยาสมุนไพร การฝังเข็ม การบริหารร่างกาย การนวดกดจุด หรือใช้ลมปราณ ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ

แพทย์แผนจีนเน้นความสัมพันธ์ที่เป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เรียกว่า ความสัมพันธ์ฟ้า-ดิน-มนุษย์(เทียน-ตี้-เหริน หรือ ซันไฉ<สามภพ>) ถือว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม การเปลี่ยนแปลงของปรากฎการณ์ในธรรมชาติ ล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ก่อให้เกิดฤดูกาลต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดการปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ ก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาสืบต่อมา เช่น การทำอาหาร การเพาะปลูก การก่อสร้าง การรักษาโรค เป็นต้น

เมื่อพูดถึงคำว่า "สุขภาพ" เกิดจากการรวมกันของคำสองคำ คือ สุข + ภาพ หมายถึง ภาพที่มีความสุข ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ให้ความหมายไว้ว่า สุขภาวะทางร่างกาย จิตใจ และสังคมรวมทั้งการปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งทางกายและทางใจ เป็นความสมบูรณ์ของคนใน 4 มิติ คือ ร่างกาย จิตใจ สังคม และวิญญาณ(ปัญญา)หากสมบูรณ์อย่างสมดุลแล้ว ก็จะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า สุขภาวะ

ส่วนพื้นฐานของทฤษฎีแพทย์จีนที่เด่นชัดก็คือ อิน-หยาง(อิม-เอี๊ยง) ห้าธาตุ(อู่สิง-โหงวเฮ้ง) โดยมีตัวกลางสำคัญก็คือ พลัง-ลมปราณ(ชี่-ขี่) เป็นตัวเชื่อมและขับเคลื่อนกระบวนการเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติรวมถึงการทำงานของร่างกายสิ่งมีชีวิตทั้งหมดรวมถึงมนุษย์ด้วยเช่นกัน โดยปัจจัยในการเกิดโรคนั้นมาจาก 2 ทางก็คือ ปัจจัยภายนอก เช่น ฤดูกาล เวลากลางวัน กลางคืน อากาศ ลม ฝน เป็นต้น และ ปัจจัยภายในร่างกาย เช่น อวัยวะภายในทั้งกลวงและตัน เลือดลม ผิวหนัง กระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นต่าง ๆ เป็นต้น
...
แพทย์จีนเมื่อมองไปที่อวัยวะภายในจะไม่ได้มองไปที่ตัวอวัยวะที่เป็นตัววัตถุ แต่มองไปที่ความสัมพันธ์และการทำงานของอวัยวะภายในต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงถึงกันมีทั้งเสริมและข่ม ทั้งหลีกเลี่ยงและอาศัยกันและกันตามหลัก 5 ธาตุ เมื่อเกิดอาการของโรคอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้นเหตุอาจจะไม่ได้มาจากตัวที่เกิดอาการ แต่อาจเกิดจากการทำงานของอวัยวะอื่นที่เกิดภาวะแกร่ง(ทำงานหนัก) หรือ อ่อนแอลง ทำให้การทำงานของอวัยวะอื่นเกิดผลกระทบลูกโซ่ต่อเนื่องเป็นปลายเหตุที่เกิดอาการขึ้น โดยวิธีรักษาต้องอาศัยการพิจารณาของแพทย์ที่จะเสริมหรือลด หรืออาจจะเป็นที่ปัจจัยตัวอื่นก็ได้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของหมอผู้นั้น
...
แพทย์จีนหรือแพทย์แผนโบราณนั้นจะเน้นการดูแลรักษาสุขภาพหรือป้องกันโรคมากกว่าการรักษาโรค เปรียบได้กับสุภาษิตไทยที่ว่า ล้อมคอกก่อนที่วัวจะหาย อย่าปล่อยให้วัวหายแล้วค่อยล้อมคอกทีหลัง หรือ ขุดบ่อให้มีน้ำไว้กิน ไว้ใช้ ไว้อาบ ก่อนที่จะหิวน้ำ ใช้น้ำ หรืออยากอาบน้ำค่อยมาขุด ปรับเปลี่ยนทัศนคติที่คิดว่าปล่อยให้ร่างกายย่ำแย่ก่อนค่อยรักษา ซึ่งเมื่อถึงเวลาจะกู้คืนกลับมาให้เหมือนเดิมนั้น อาจจะไม่ทันการณ์เสียแล้ว
.....

อ่านต่อ

วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553

กังฟู


เมื่อเราได้ยินเกี่ยวกับหมัด ๆ มวย ๆ เราจะนึกถึงหนังหรือนิยายกำลังภายใน หรือ หนังบู๊ เรื่องต่าง ๆ ถ้าพูดถึงในแถบเอเซียด้วยแล้ว เป็นแหล่งที่มีศิลปะการป้องกันตัวมากที่สุด ยิ่งโดยเฉพาะในประเทศจีนยิ่งแล้ว มีมากมายหลากหลายประเภท เป็นการเข้าใจผิดอย่างมากเลยทีเดียวที่ว่า ถ้าใครสนใจเรื่องนี้จะเป็นพวกที่ชอบใช้กำลังตัดสินปัญหา ทำตัวเท่ไว้โชว์คนอื่น หรือ ชอบรังแกคนอ่อนแอกว่า แต่ที่จริงแล้วผู้ที่จะได้รับการฝึกฝนนั้นจะต้องผ่านการเห็นชอบจากอาจารย์ ต้องดูหน่วยก้าน ดูลักษณะนิสัยเป็นอย่างไรเสียก่อน จึงจะรับเป็นลูกศิษย์ได้ แต่ถึงรับแล้วก็ต้องอบรมคุณธรรมเสริมไปอีก ไม่ให้เที่ยวไปมีเรื่องต่อยตีกับใครพร่ำเพรื่อเด็ดขาด เป็นการแสดงถึงความอ่อนน้อม มีสัมมาคารวะและความอดทนได้เป็นอย่างดี

คำว่า "กังฟู" นั้นจริง ๆ แล้ว มาจากคำว่า "กงฟู" ซึ่งแปลว่า การฝึกฝนอย่างถูกต้อง ต่อเนื่อง และยาวนาน ซึ่งที่เรียกกันว่า "กังฟู" นั้น มาจากภาษาอังกฤษ คือ Kungfu ซึ่งถ้าอ่านตามพินอิน จะต้องอ่านว่า กงฟู แต่ฝรั่ง หรือ คนที่ไม่รู้พินอิน ภาษาจีน จะต้องอ่านแบบนี้แน่นอน

คำว่า บู๊ นั้นเป็นคำในภาษาจีนแต้จิ๋ว ในภาษาจีนกลางออกเสียงว่า อู่ ซึ่งแปลว่า ต่อสู้ หรือ ยุทธ์ เป็นการนำคำสองคำมาประกอบกันในภาษาจีน คือคำว่า หยุด และคำว่า หอก หรือความหมายว่า อาวุธ มาประกอบกัน ความหมายคือ หยุดการใช้อาวุธ ยุติความรุนแรง นั่นเอง


เช่นเดียวกันกับคำว่า "วูซู" (Wushu) ซึ่งจีนกลางอ่านว่า "อู่ซือ" หรือ "บู๊ซุก" ในจีนแต้จิ๋ว แปลว่า "วิทยายุทธ์" นั่นเอง



กังฟูจีนนั้นมีคำกล่าวกันว่า มวยทุกชนิดล้วนกำเนิดจากเส้าหลิน ซึ่งเส้าหลินนั้นมีชื่อเสียงมาจากท่านโพธิธรรม หรือ ปรมาจารย์ตั๊กม้อ(ต๋าโม๋) ได้มาเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายเซนในประเทศจีน เห็นว่าพระในวัดนั้น นั่งสมาธินาน ๆ เกิดอาการเลือดลมติดขัด เมื่อยขบไปทั้งตัว ไม่ก่อเกิดสมาธิแต่อย่างใด ท่านจึงคิดค้นท่ากายบริหารที่ดัดแปลงมาจากอาสนะในศาสตร์โยคะของอินเดีย มาผสมผสานเข้ากับมวยในท้องถิ่นนั้นที่มีอยู่แล้ว เกิดเป็นมวย การฝึกลมปราณต่าง ๆ ขึ้น

นอกจากมวยเส้าหลินแล้ว อีกสำนักหนึ่งที่โด่งดังไม่แพ้กันนั่นก็คือ สำนักบู๊ตึ๊ง(อู๋ตั่ง) ก่อตั้งโดยท่านจางซันฟง มีศาสนาเต๋าเป็นแกนหลัก มวยที่ถือเป็นตัวแทนของสำนักก็คือ มวยไท้เก็ก(ไท่จี๋) เป็นมวยที่ร่ายรำด้วยความอ่อนช้อยนุ่มนวล แต่ในความนุ่มนวลนั้น แฝงไปด้วยความแข็งแกร่ง อาศัยความสงบนิ่งสยบความเคลื่อนไหว ช้าสยบเร็ว น้อยสยบมาก อ่อนหยุ่นสยบแข็งกร้าว เป็นหลักการที่ตรงกันข้ามกับหลักมวยทั่วไปหรือที่คนทั่วไปคิดอย่างสิ้นเชิง บุคลิกภายนอกของผู้ฝึกไม่ต่างอะไรจากบัณฑิต หรือ นักปราชญ์ปัญญาชน ที่สุภาพเรียบร้อย

มวยจีน หรือ กังฟูนั้น แท้จริงแล้วมีเป้าหมายเน้นฝึกเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม ต่างจากมวยประเทศอื่นที่มุ่งหมายโดยตรงเพื่อต่อสู้ หรือ ป้องกันตัวเป็นหลัก แต่ถึงอย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นมวยประเภทไหนก็ล้วนต้องประกอบด้วยคุณธรรมทั้งสิ้น อยู่ที่ผู้ฝึกจะเข้าถึงแล้วนำไปใช้ ให้เกิดคุณค่าและความหมายกับตัวเองและกับมวยได้เช่นไร

....

อ่านต่อ

วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

ศิลปะจีน

เมื่อพูดถึงประเทศจีน เราจะคิดถึงอะไรได้มากมาย หนึ่งในหลาย ๆ สิ่งที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั่นก็คือ ศิลปะแบบจีน ซึ่งศิลปะที่ได้รับการยกย่้องว่าปราชญ์ทั้งหลายศึกษาไว้เป็นสิ่งพักผ่อนหย่อนใจในยามว่าง ไว้ขัดเกลาจิตใจ ฝึกฝนสมาธิ จนกลายมาเป็นศิลปะนันทนาการคลาสสิคทั้ง 4 ของจีน นั่นก็คือ "ฉิน ฉี ซู ฮว่า" มาจากอะไรบ้าง


1.ฉิน มาจากคำว่า "กู่ฉิน" คือ พิณโบราณมี 7 สาย มีต้นกำเนิดมานานมากก่อนสมัยชุนชิว ยุคของปราชญ์ทั้งหลายเสียอีก ต่างจาก "กู่เจิง" หรือ บางท่านเรียกว่า "กู่เจิ้ง" ซึ่งมีถึง 21 สาย เสียงฉินนั้นจะทุ้ม ต่ำ ค่อนข้างเบา อาศัยการฟังในที่สงบเงียบ ส่วนกู่เจิงนั้น เสียงจะใส ดังกังวาน กู่ฉินนั้นทั้งท่านขงจื่อ และ ท่านจูกักเหลียง(ขงเบ้ง) ก็ได้เล่นฉินเช่นกัน แต่ในยุคปัจจุบันนี้ได้รวมถึงเครื่องดนตรีจีนโบราณทั้งหลายที่เด่น ๆ ก็เช่น กู่เจิง(พิณจีน) หยางฉิน(ขิม) เอ้อร์หู(ซอจีน) ตี่จื้อ(ขลุ่ยผิวจีน)



2.ฉี มาจากคำว่า "เหวยฉี" นั่นก็คือ "หมากล้อม" หรือ "โกะ" ภาษาทางการว่า "อิโกะ" ในภาษาญีุ่ปุ่น "ปาดุ๊ก" ในภาษาเกาหลีนั่นเอง เป็นหมากกระดานที่มีประวัติอันยาวนาน ว่ากันว่าคิดค้นขึ้นโดยนักพรตเต๋า หรือพระนักบวชศาสนาพุทธในจีน โดยคิดค้นขึ้นจากสัจธรรมที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยที่ว่า "ทุกสรรพสิ่งเริ่มจากความว่าง และจบที่ความว่างเช่นกัน" หมากล้อมเองเป็นเกมกระดานที่ต่างจากหมากกระดานประเภทอื่น ตรงที่เริ่มต้นจาก "ความว่าง" ซึ่งแฝงไว้ด้วยปรัชญาแห่ง "สูญตา" จาก "ความว่าง" ก่อเกิด "รูป" เม็ดหมากแต่ละเม็ดที่วางบนกระดานล้วนมี "คุณค่า" และ "ความหมาย" ที่แตกต่างกันตามตำแหน่งที่อยู่บนจุดตัดบนกระดานเชิ่อมโยงสัมพันธ์กับเม็ดหมากรายรอบ ก่อเกิดปฏิสัมพันธ์มากมายตามตำแหน่งนั้น เม็ดหมากแต่ละเม็ดจึงมิได้มี "คุณค่า" ภายในตัวที่แตกต่างกันตั้งแต่แรก เปรียบได้กับการดำเนินชีวิตของคนเรานั้น เกิดมาต่างก็มิได้มีคุณค่าต่างกันตั้งแต่แรก แต่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ภูมิปัญญาภายใน การเลี้ยงดู การคบหาผู้คน รสนิยม ความสนใจ การพัฒนาฝึกฝนตนเอง ฯลฯ นั่นเอง ซึ่งท่านขงจื่อเองก็ยังได้กล่าวยกย่องไว้ว่า "ถ้าจะไม่ทำอะไรเลยทั้งวัน เล่นแต่หมากล้อมก็ยังดีกว่าอยู่เปล่าๆ กีฬาในร่มอะไรที่จะเทียบได้กับหมากล้อมนั้นไม่มี"



3.ซู มาจากคำว่า "ซูฝ่า" การเขียนอักษร หรือ การคัดอักษรจีน ซึ่งเป็นศิลปะที่เก่าแก่และแพร่หลายที่สุดของจีน ซึ่งการรับราชการจีนในสมัยก่อนนั้น ถ้าลายมือสวย ถือว่าเป็นการแสดงภูมิปัญญาความสามารถได้อีกอย่างหนึ่ง ลักษณะอักษรที่แตกต่างกัน สามารถแสดงถึงอารมณ์ ความรู้สึกของผู้เขียน และความหมายต่างๆ ที่แฝงอยู่ในภาพได้ แม้ว่าจะเป็นการใช้อักษรสื่อในการแสดงออกของผู้เขียน แต่ผู้ชมก็สามารถรับรู้ความงามของอักษรนั้น ๆ ได้ ดังภาพวาด abstract (นามธรรม) ของศิลปะแบบตะวันตกได้เช่นกัน เมื่อรวมกับตัวอักษรที่เขียนเป็นบทกวีด้วยแล้วยิ่งเพิ่มคุณค่าภายในมากยิ่งขึ้นไปอีก


4.ฮว่า คือ ศิละปะการวาดภาพแบบจีน ในกระบวนภาพวาดจีน ภาพวาด "ภูเขา และ แม่น้ำ" เป็นแม่บทหลักของภาพวาดของจีนที่สุด ซึ่งศิลปะภาพวาดจีนต้องประกอบไปด้วยปรัชญาอิน-หยาง แทนด้วยนิ่งกับเคลื่อนไหว ดังตัวอย่างอื่น เช่น นกกับดอกไม้ แมลงกับต้นหญ้า เป็นต้น เป็นการแสดงความอ่่อนน้อมถ่อมตนเืมื่อเทียบตนเองกับธรรมชาติ ซึ่งทั้งขุนเขาและแม่น้ำ ต่างก็เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ โดดเด่นในธรรมชาิติ โดยการวาดคนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาิติกลมกลืนไปกับภาพ ไม่ได้โดดเด่นชัดเจน เพื่อให้ทั้งผู้วาด และผู้ชมได้เข้าถึงความถ่อมตนได้เป็นอย่างดี ภาพวาดจีนนั้นจะเห็นได้ว่า มีความว่าง พื้นที่ เนื้อที่(space) เหลือไว้่มากมายดูไม่สมดุลเอาเสียเลย เป็นเพราะว่า ในภาพวาดจีนนั้น ความว่างนั้นมีความหมาย มีคุณค่า หรือมีน้ำหนักในตัวมันเอง เพราะการนำสิ่งที่ไม่ได้แสดงออกถึงสิ่งที่ถ่ายทอดในอารมณ์ความรู้สึกของผู้วาดแล้วนำสิ่งที่ไม่เกียวข้องมาถ่วงไว้ให้ดูสมดุลจะเป็นการทำให้ความรู้สึกของผู้วาดและผู้ชมเสียสมดุลไป นอกจากความว่างแล้วภาพวาดจีนยังเน้นถึงช่วงเวลา ฤดูกาลอีกด้วย



คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันเข้าใจผิดในคำโบราณที่ว่า "ฉิน ฉี ซู ฮว่า"
ถ้าเล่นกู่ฉิน เล่นหมากล้อม เขียนอักษร วาดพู่กันจีน จะทำให้ตัวเองกลายเป็นปัญญาชนนักปราชญ์

ปัญญาชน หรือ นักปราชญ์ ในภาษาจีนเรียกว่า "เหวินเหริน"
ซึ่งแปลง่าย ๆ ว่า "ผู้รู้หนังสือ" แต่ก็ไม่ใช่ว่าอ่านออก เขียนได้เท่านั้น ยังแสดงถึงผู้ที่มีระดับความรู้ทางอักษร กวี วรรณกรรม ปรัชญา และมีศีลธรรม จรรยาอันสูงส่ง

เหวินในภาษาจีนแปลตรงตัวว่า "วรรณกรรม" หรือที่เราได้ยินในหนังกำลังภายในบ่อย ๆ ว่า เก่งทั้งบุ๋นและบู๊ (เหวินคือภาษาจีนกลาง บุ๋นคือภาษาจีนแต้จิ๋ว) ซึ่งเหวินเหรินก็คือ มนุษย์วรรณกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับหนังสือนั่นเอง

บางคนถึงกับเข้าใจว่า ถ้าทำได้ทั้งสี่อย่างจะกลายเป็นคนสูงส่ง ไม่ไปปะปนกับสามัญชนคนธรรมดาทั่วไป
แต่ถ้าไร้ "เหวิน" แล้ว ก็เป็นเพียงคนธรรมดา ๆ เท่านั้นเอง

จึงทำให้คนรุ่นหลังมีแนวคิดที่ว่่า คนที่ทำได้ทั้งสี่อย่าง คือสุดยอดอัจริยะ แทบไม่มีข้อด้อย
ข้อนี้เป็นเพียง ปัญญาชนในอุดมคติที่เพ้อฝัน เป็นแค่ความต้องการจากค่านิยมในสังคมเท่านั้นเอง


อ่านต่อ