วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

แพทย์แผนจีน


เมื่อพูดถึงแพทย์แผนโบราณ การแพทย์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และรู้จักกันแพร่หลาย หนึ่งในนั้นก็คือ แพทย์แผนจีน ไม่ว่าจะเป็นการใช้อาหารและยาสมุนไพร การฝังเข็ม การบริหารร่างกาย การนวดกดจุด หรือใช้ลมปราณ ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ

แพทย์แผนจีนเน้นความสัมพันธ์ที่เป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เรียกว่า ความสัมพันธ์ฟ้า-ดิน-มนุษย์(เทียน-ตี้-เหริน หรือ ซันไฉ<สามภพ>) ถือว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม การเปลี่ยนแปลงของปรากฎการณ์ในธรรมชาติ ล้วนมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ก่อให้เกิดฤดูกาลต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดการปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ ก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาสืบต่อมา เช่น การทำอาหาร การเพาะปลูก การก่อสร้าง การรักษาโรค เป็นต้น

เมื่อพูดถึงคำว่า "สุขภาพ" เกิดจากการรวมกันของคำสองคำ คือ สุข + ภาพ หมายถึง ภาพที่มีความสุข ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ให้ความหมายไว้ว่า สุขภาวะทางร่างกาย จิตใจ และสังคมรวมทั้งการปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งทางกายและทางใจ เป็นความสมบูรณ์ของคนใน 4 มิติ คือ ร่างกาย จิตใจ สังคม และวิญญาณ(ปัญญา)หากสมบูรณ์อย่างสมดุลแล้ว ก็จะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า สุขภาวะ

ส่วนพื้นฐานของทฤษฎีแพทย์จีนที่เด่นชัดก็คือ อิน-หยาง(อิม-เอี๊ยง) ห้าธาตุ(อู่สิง-โหงวเฮ้ง) โดยมีตัวกลางสำคัญก็คือ พลัง-ลมปราณ(ชี่-ขี่) เป็นตัวเชื่อมและขับเคลื่อนกระบวนการเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติรวมถึงการทำงานของร่างกายสิ่งมีชีวิตทั้งหมดรวมถึงมนุษย์ด้วยเช่นกัน โดยปัจจัยในการเกิดโรคนั้นมาจาก 2 ทางก็คือ ปัจจัยภายนอก เช่น ฤดูกาล เวลากลางวัน กลางคืน อากาศ ลม ฝน เป็นต้น และ ปัจจัยภายในร่างกาย เช่น อวัยวะภายในทั้งกลวงและตัน เลือดลม ผิวหนัง กระดูก ข้อต่อ เส้นเอ็นต่าง ๆ เป็นต้น
...
แพทย์จีนเมื่อมองไปที่อวัยวะภายในจะไม่ได้มองไปที่ตัวอวัยวะที่เป็นตัววัตถุ แต่มองไปที่ความสัมพันธ์และการทำงานของอวัยวะภายในต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงถึงกันมีทั้งเสริมและข่ม ทั้งหลีกเลี่ยงและอาศัยกันและกันตามหลัก 5 ธาตุ เมื่อเกิดอาการของโรคอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้นเหตุอาจจะไม่ได้มาจากตัวที่เกิดอาการ แต่อาจเกิดจากการทำงานของอวัยวะอื่นที่เกิดภาวะแกร่ง(ทำงานหนัก) หรือ อ่อนแอลง ทำให้การทำงานของอวัยวะอื่นเกิดผลกระทบลูกโซ่ต่อเนื่องเป็นปลายเหตุที่เกิดอาการขึ้น โดยวิธีรักษาต้องอาศัยการพิจารณาของแพทย์ที่จะเสริมหรือลด หรืออาจจะเป็นที่ปัจจัยตัวอื่นก็ได้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของหมอผู้นั้น
...
แพทย์จีนหรือแพทย์แผนโบราณนั้นจะเน้นการดูแลรักษาสุขภาพหรือป้องกันโรคมากกว่าการรักษาโรค เปรียบได้กับสุภาษิตไทยที่ว่า ล้อมคอกก่อนที่วัวจะหาย อย่าปล่อยให้วัวหายแล้วค่อยล้อมคอกทีหลัง หรือ ขุดบ่อให้มีน้ำไว้กิน ไว้ใช้ ไว้อาบ ก่อนที่จะหิวน้ำ ใช้น้ำ หรืออยากอาบน้ำค่อยมาขุด ปรับเปลี่ยนทัศนคติที่คิดว่าปล่อยให้ร่างกายย่ำแย่ก่อนค่อยรักษา ซึ่งเมื่อถึงเวลาจะกู้คืนกลับมาให้เหมือนเดิมนั้น อาจจะไม่ทันการณ์เสียแล้ว
.....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น